ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
ความกังวลของผู้ที่กำลังจะตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ คือผลข้างเคียงและอันตรายที่เกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด ที่เห็นได้ตามข่าวทั้งในและต่างประเทศ
ในบทความนี้ หมอจะมาอธิบายว่าฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดจริงไหม ? ฟิลเลอร์แบบไหนที่อันตราย ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์ หากเกิดข้อผิดพลาดรักษาได้ไหม ? ข้อควรระวังในการฉีดฟิลเลอร์ รวมถึงวิธีการเลือกคลินิกอย่างไรให้ปลอดภัย ลดโอกาสตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์ครับ
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เกิดจากอะไร ?
ก่อนที่จะทราบว่าฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เกิดจากอะไร หมออยากจะอธิบายก่อนว่า “ฟิลเลอร์” (Injectable filler) ในความหมายสากลคือสารที่ใช้เติมเต็มเข้าสู่ร่างกาย มีหลากหลายประเภท ทั้งแบบที่สลายได้เองตามธรรมชาติ และแบบถาวรไม่สามารถสลายได้ สารเติมเต็ม Injectable filler ที่มีใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่
- Collagen จากสัตว์ ปัจจุบันไม่นิยม เพราะทำให้เกิดการแพ้บวมแดงได้ง่าย
- Transplanted Fat (เติมไขมัน) เหมาะกับคนที่ต้องใช้การเติมเต็มบริเวณกว้าง หรือโครงสร้างใบหน้าเดิมยุบตอบมาก ต้องการใช้ 10-20 CC ขึ้นไป
- Biosynthetic polymers เช่น ซิลิโคนเหลว, พาราฟิน,polymethylmethacrylate และ Calcium hydroxylapatite กลุ่มนี้จะเป็นฟิลเลอร์ชนิดที่ไม่สลายหรือสลายได้ไม่หมด ไม่ปลอดภัย ไม่ผ่าน อย.
- HA (Hyaluronic Acid) เป็นฟิลเลอร์ที่สามารถสลายเองได้และสามารถฉีดใหม่ได้เรื่อย ๆ ปลอดภัยและนิยมใช้มากที่สุด ผ่าน อย. ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ในวงการแพทย์และวงการเสริมความงามไทย เมื่อพูดถึง “ฟิลเลอร์” จะหมายถึงสาร HA นี้เองครับ
ถ้าเราเห็นตามข่าวในประเทศ รวมถึงข่าวจากต่างประเทศ จะใช้คำว่า “ฟิลเลอร์” ตามหลักสากล นั่นก็คือ หมายความรวมฟิลเลอร์ทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นเมื่ออ่านข่าวตามสื่อ ควรจะอ่านรายละเอียดก่อนให้ดีก่อนว่าสารที่ใช้ฉีดนั้นเป็นสารประเภทใดครับ
ต่อมาคือ เรื่อง กายวิภาคบนใบหน้าครับ บนใบหน้าของคนเราจะมีหลอดเลือดที่นำเลือดที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ อยู่ และแน่นอนว่า ดวงตา เป็นอวัยวะสำคัญที่มีหลอดเลือดหลายเส้นเชื่อมเข้าสู่ดวงตาด้วยครับ ได้แก่
- หลอดเลือด Supraorbital artery หลอดเลือดแดงเหนือเบ้าตา
- หลอดเลือด Supratrochlear artery หลอดเลือดแดงที่หน้าผาก
- หลอดเลือด Dorsal nasal artery หลอดเลือดแดงที่จมูกส่วนบน
- หลอดเลือด Infraorbital artery หลอดเลือดแดงใต้เบ้าตา
- หลอดเลือด Lateral nasal artery หลอดเลือดแดงที่ข้างจมูก
- หลอดเลือด Angular artery แขนงของหลอดเลือดร่องแก้ม
- หลอดเลือด Superior labial artery หลอดเลือดเหนือริมฝีปาก
- หลอดเลือด Facial artery แขนงของหลอดเลือดที่มาจากบริเวณคอเข้าสู่ใบหน้า
หลอดเลือดเหล่านี้ล้วนมีส่วนที่เชื่อมโยงเข้าสู่ดวงตา หากมีการอุดตันของเส้นเลือดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะหลอดเลือดที่เชื่อมกับดวงตาโดยตรง จะทำให้เลือดไปเลี้ยงดวงตาไม่ได้ หากทำการรักษาไม่ทัน อาจทำให้เกิดตาบอด หรือกรณีที่อุดตันหลอดเลือดจุดอื่น ๆ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย (Necrosis) ได้ครับ
ดังนั้น คำถามที่ว่า ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด เกิดจากอะไร ? คำตอบคือ เกิดจากการฉีดสารเติมเต็ม เข้าสู่ใบหน้า แต่เกิดการอุดตันในเส้นเลือดที่เลี้ยงดวงตา แพทย์ไม่สามารถทำการรักษาโดยการฉีดสลายฟิลเลอร์ได้ทันท่วงที จนเกิดภาวะตาบอด (Blindness) ในที่สุดครับ
การฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด มักเกิดจากการฉีดกับแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์ หมอเถื่อน หมอกระเป๋า ฉีดผิดจุด ผิดตำแหน่ง ไม่รู้กายวิภาค และไม่สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงทีแม้จะใช้ฟิลเลอร์ของแท้ อีกกรณีหนึ่งคือใช้ฟิลเลอร์ของปลอม ที่ไม่สามารถฉีดสลายได้ครับ
สถิติการฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอด
จากการเก็บข้อมูลสถิติการฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนรายงานเคสที่พบภาวะเนื้อตายหรือตาบอดหลังฉีดไขมัน (Transplanted fat) มีจำนวนสูงกว่าการฉีดฟิลเลอร์ประเภท HA และ สารเติมเต็มประเภทอื่น ๆ ครับ
ถ้านับเฉพาะฟิลเลอร์ประเภท hyaluronic acid ความเสี่ยงในการเกิดตาบอดมีสถิติที่น้อยมาก ๆเนื่องจากถ้าใช้ฟิลเลอร์ของแท้และฉีดโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง แพทย์จะสามารถตรวจพบการอุดตันในเส้นเลือดได้จากการเปลี่ยนแปลงของสีผิวขณะฉีดและหลังฉีด และสามารถแก้ไขโดยการฉีดสลายได้ทันท่วงที โดยใช้เอนไซม์ที่ชื่อ Hyaluronidase สามารถละลายหมดได้ 100% ทำให้รักษาให้เนื้อกลับคืนมาได้ 100% แตกต่างจากการเติมไขมันที่ถ้าเกิดการอุดตันแล้วจะไม่มีตัวยาฉีดสลายครับ
ในปี 2018 – 2020 พบผู้ป่วยที่ตาบอดจากการฉีดฟิลเลอร์ 190 ราย เกิดจากการฉีดไขมันสูงที่สุด รองลงมาคือฟิลเลอร์ HA และฟิลเลอร์ประเภทอื่น ๆ
ที่มา Chatrath V, Banerjee PS, Goodman GJ, Rahman E. Soft-tissue filler–associated blindness: a systematic review of case reports and case series. Plastic and Reconstructive Surgery Global Open. 2019 Apr;7(4). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6554164/
ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น อาการแพ้บวมแดง (reaction,granuloma) และ ฟิลเลอร์ย้อยเป็นก้อนแข็ง (migration)เมื่อเวลาผ่านไป 3-5 ปีหรือผิดรูป เกิดขึ้นได้ในฟิลเลอร์ประเภท Biosynthetic polymers มากที่สุด ส่วนอาการอักเสบติดเชื้อ (Infection) มักจะพบในผู้ที่ฉีดสารประเภท Collagen จากสัตว์ ฉีดกับหมอกระเป๋า หรือคลินิกเถื่อนครับ
และจากการศึกษาในปี 2019 พบว่า ตำแหน่งการฉีดฟิลเลอร์ที่ทำให้เกิดอาการตาบอดมากที่สุดได้แก่ ฟิลเลอร์ขมวดคิ้ว ฟิลเลอร์จมูก ฟิลเลอร์ร่องแก้ม ฟิลเลอร์หน้าผาก ฟิลเลอร์ขมับ ฟิลเลอร์แก้มตอบ ฟิลเลอร์ใต้ตา และฟิลเลอร์จุดอื่น ๆ เช่น ฉีดฟิลเลอร์ปาก ฟิลเลอร์คาง ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับหลักกายวิภาค ที่ตำแหน่งที่มีรายงานการเกิดตาบอดสูง จะเป็นจุดที่มีเส้นเลือดเข้าสู่ดวงตาโดยตรง ดังนั้น การฉีดฟิลเลอร์ควรฉีดโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์สูงเท่านั้น เพราะแพทย์จะทราบหลักกายวิภาคเป็นอย่างดีและหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็สามารถสังเกตความผิดปกติและรักษาได้อย่างทันท่วงทีครับ
ที่มา Chatrath, Vandana, et al. “Soft-tissue filler–associated blindness: a systematic review of case reports and case series.” Plastic and Reconstructive Surgery Global Open 7.4 (2019). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6554164/
ข้อควรระวัง ที่ต้องรู้ก่อนฉีดฟิลเลอร์
ฟิลเลอร์ที่มีความปลอดภัย ควรจะเป็นสารประเภท HA เพราะสามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ และถ้าหากเกิดการหลุดเข้าเส้นเลือด จะสามารถทำการฉีดสลายได้ทันที แต่ข้อควรระวังก่อนการฉีดฟิลเลอร์ คือเลือกคลินิกที่ฉีด เลือกแพทย์ผู้ทำหัตถการ เพราะหากไม่ได้ตรวจสอบให้ดี อาจจะต้องไปเจอกับฟิลเลอร์ปลอมที่จะส่งผลเสียระยะยาวครับ
ฟิลเลอร์ปลอม มักจะเป็นสารประเภท Calcium hydroxylapatite, polymethylmethacrylate, ซิลิโคนเหลว พาราฟิน และฟิลเลอร์ราคาถูกมากผิดปกติ ซึ่งจะเป็นสารเติมเต็มที่ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ รวมถึงไม่สามารถใช้การฉีดสลายได้ หากเข้าไปอยู่ในร่างกายแล้วจะอยู่ถาวร จับตัวเป็นก้อน ต้องเอาออกด้วยวิธีการผ่าตัดหรือขูดออกเท่านั้น
เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ฟิลเลอร์ปลอมจะไหลมากองรวมกันเป็นก้อน ผิดรูปจากเดิม บวมแข็ง ร่างกายเกิดการต่อต้านสารดังกล่าวจนเกิดอาการอักเสบติดเชื้อได้ หากปล่อยไว้จะอันตรายมากครับสรุปอันตรายจากการฉีดฟิลเลอร์ปลอม
- การอักเสบ ติดเชื้อ เป็นหนอง หากรักษาไม่ดีอาจเกิดรอยแผลเป็นในอนาคต
- ผิวหนังแพ้เป็นผื่นแดง คัน
- เกิดการอุดตันในเส้นเลือด อาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด ไม่สามารถทำการรักษาได้
- เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ฟิลเลอร์เริ่มเกาะแน่นกับกระดูก จับตัวเป็นก้อน ไหลลง บวม ย้อย ทำให้ใบหน้าเสียรูปทรง ใต้ตาผิดรูป
แต่ไม่ใช่ว่าการฉีดฟิลเลอร์ของแท้จะปลอดภัย 100% นะครับ การฉีดฟิลเลอร์ประเภท HA แม้จะใช้ฟิลเลอร์แท้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายหรือตาบอดได้ มักจะเกิดจากการฉีดกับบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์หรือหมอกระเป๋า เพราะกรณีเกิดฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือด หมอกระเป๋าจะไม่สามารถประเมินอาการและทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีครับ ถ้าเราเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน ฉีดโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์ และใช้ฟิลเลอร์ของแท้ที่นำเข้ามาอย่างถูกต้อง ผ่าน อย. โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายร้ายแรงก็เหลือน้อยมากครับ
ฟิลเลอร์ยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาในประเทศไทย อัปเดต 2024
อ่านบทความเพิ่มเติม : ฟิลเลอร์ยี่ห้อไหนดีที่สุด ฟิลเลอร์แท้-ปลอม ดูอย่างไร ยี่ห้อไหนเหมาะกับบริเวณใด ?
อาการหลังฉีดฟิลเลอร์ ที่ควรพบแพทย์
หลังฉีดฟิลเลอร์ แพทย์จะทำการติดพลาสเตอร์ตามรอยเข็มที่ฉีด ซึ่งสามารถแกะออกได้เมื่อครบเมื่อ 1 ชม. หลังจากนั้นอาจมีอาการบวมแดง เขียวช้ำ หรือคันได้ในจุดที่ทำได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองในช่วง 2-3 วัน บางเคสที่ฉีดหลายตำแหน่ง หรือใช้จำนวน CC มาก อาจจะมีอาการบวมได้ถึง 1-2 สัปดาห์ครับ
หากมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ สามารถทานยาแก้ปวดทุก ๆ 4 ชม. เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ครับ
จากที่หมอได้อธิบายไปเบื้องต้น คืออาการหลังทำที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติครับ ส่วนข้อสังเกตอาการบวมผิดปกติที่ควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน หมอแนะนำให้สังเกตดังนี้
- หลังฉีดภายใน 5-10 นาที เกิดอาการมองเห็นไม่ชัดเจน เริ่มมีจุดดำ ๆ ขึ้นมาเวลามองเห็น (มองไม่เห็นบางส่วน) หรือมองไม่เห็นเลย ปวดตา ควรแจ้งแพทย์ทันที
- อาการบวมที่เมื่อผ่าน 3 วันไปแล้ว อาการบวมแดงยังไม่ดีขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะบวมมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ผิวบริเวณที่ฉีดมีสีคล้ำหรือซีดกว่าปกติภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีด ปวดบริเวณที่ฉีดอย่างรุนแรง
- มีตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง เกิดการอักเสบ
เลือกคลินิกฉีดฟิลเลอร์ที่ไหนดี ?
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอจะทราบแล้วนะครับว่าการฉีดฟิลเลอร์ที่ปลอดภัย ต้องฉีดกับแพทย์ที่มีประสบการณ์และต้องใช้ฟิลเลอร์ของแท้ที่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้เท่านั้น แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าคลินิกไหนได้มาตรฐาน คลินิกไหนฉีดโดยแพทย์ ไม่มีการหมกเม็ดสวมรอยเป็นแพทย์ หมอมีวิธีการเลือกคลินิก ดังนี้ครับ
- คลินิกสะอาดทั้งด้านในและด้านนอกห้องทำหัตถการ เป็นระเบียบเรียบร้อย มีแสงสว่างเพียงพอ ห้องหัตถการกว้างขวาง
- อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการฉีดฟิลเลอร์ จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อถูกต้องตามหลักอนามัยสากล
- เลือกทำกับคลินิกที่มีคุณหมอแบบ Full-time ประจำอยู่ เพราะแพทย์ที่อยู่ประจำจะมีการติดตามการรักษาได้ต่อเนื่องและย่อมจะรักษาชื่อเสียงของคลินิกได้มากกว่าแพทย์ Part-time
- สถานที่ตั้งของคลินิกควรอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย เดินทางสะดวก เช่น ในห้างสรรพสินค้า หรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนผ่านไปมาตลอดทั้งวัน เพราะในกรณีที่เกิดปัญหาที่ต้องรีบเข้ามาติดต่อที่คลินิก จะได้เข้ามาพบแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
- มีช่องทางติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Line@ หรือ Facebook ส่วนกลางที่ตอบคำถามได้รวดเร็ว เพื่อให้คนไข้สามารถสอบถามข้อสงสัยกับคุณหมอที่ทำเคสของตนเองโดยตรงได้อย่างสะดวก
- มีรีวิวจากผู้ที่เคยใช้บริการจริง เปรียบเทียบผลการรักษา ก่อนทำ-หลังทำ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
วิธีการเลือกแพทย์
- มีป้ายประจำตัวแพทย์ และเลขที่ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม นำชื่อ – นามสกุลของหมอไปตรวจสอบกับเว็บไซต์แพทยสภาได้
- มีประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์อย่างน้อย 5 ปี
- มีรีวิวในแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น pantip, facebook ที่คลินิกไม่สามารถลบข้อความได้ ว่ามีที่ผ่านมาเคยมีผู้ที่เข้ารับการฉีดฟิลเลอร์จากคุณหมอท่านนั้นมากน้อยเพียงใด และคุณหมอเคยมีประสบการณ์ด้านการฉีดฟิลเลอร์มาเยอะหรือไม่ และคำบอกเล่าประสบการณ์จากผู้ใช้บริการจริง
- หากมีคลิปรีวิว ที่ไม่ได้มีการแต่งภาพเพิ่ม จะยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ครับ
- สามารถเข้าไปปรึกษาและตรวจประเมินอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจทำได้
- ก่อนฉีด หมออธิบายผลิตภัณฑ์ ชี้ให้เห็นถึงเลข Lot. วันหมดอายุ แกะกล่อง แกะหลอดฟิลเลอร์ต่อหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นฟิลเลอร์ของแท้ และนำหลอดที่ฉีดแล้วกลับบ้านเพื่อตรวจสอบได้
สรุป
ฉีดฟิลเลอร์แล้วตาบอดหรืออุดตันเส้นเลือด เป็นอุบัติการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แต่พบได้น้อยเมื่อเทียบกับการฉีดสารเติมเต็มประเภทอื่น การฉีดฟิลเลอร์ให้ปลอดภัยควรเลือกทำกับแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ใช้ฟิลเลอร์ของแท้ยี่ห้อที่ได้มาตรฐานผ่าน อย. ศึกษาวิธีดูฟิลเลอร์แท้ก่อนตัดสินใจฉีด และทำในคลินิกที่มีมาตรฐานเท่านั้นครับ
สำหรับผู้อ่านทุกท่านที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ทีมแพทย์ V Square Clinic ทุกคนยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้ง 30 สาขา หรือสามารถปรึกษาหมอทาง inbox facebook หรือ Line นี้ได้เลยครับ หมอตอบเองครับ